อาคารเสนาสนะ ของ วัดไก่เตี้ย (กรุงเทพมหานคร)

อุโบสถหลังใหม่ สร้างแทนอุโบสถเดิมที่รื้อไปเมื่อ พ.ศ. 2511 กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ ด้านล่างมีรูปไก่อยู่ในวงกลม (คาดว่าทำขึ้นตามชื่อวัด) ลวดลายเดิมหน้าบันเป็นลายกนกและพรรณพฤกษา[6] พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ฐานมีจารึกว่าหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1989 คาดว่าอัญเชิญลงมาจากหัวเมืองเหนือในรัชกาลที่ 1 พร้อมกับพระพุทธรูปพันกว่าองค์ที่ประดิษฐานตามพระอารามหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์

วิหาร เชื่อว่าสร้างพร้อมอุโบสถหลังเดิม หน้าบันของวิหารเป็นไม้จำหลัก หน้าบันของมุขด้านล่างเป็นลายเครือเถากนกออกปลายเป็นเทพนม ตรงกลางเป็นครุฑ ส่วนหน้าบันด้านบน ตรงกลางสลักเป็นรูปวิมานท่ามกลางลายกนก (ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส) มีพระพุทธฉาย ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถและวิหารภายในเขตกำแพงแก้ว

วัดมีหอระฆัง ตั้งอยู่ด้านข้างศาลาการเปรียญ เป็นหอระฆังเก่า ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น หอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เชิงชายสลักไม้เป็นลายค้างคาวแบบจีน